Accessibility Tools

ศาลแขวงอุบลราชธานี
Ubon Ratchathani Kwaeng Court
image

ศาลแขวงอุบลราชธานี

เจ้าพนักงานตำรวจศาล-อำนาจและหน้าที่image
image

อำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจศาล
พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 5 วางบทบัญญัติว่า
เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
1.    รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินในบริเวณศาล
2.    ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในบริเวณศาล
3.    รักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงานและลูกจ้างของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่ รวมทั้งอาคารสถานที่ และทรัพย์สินของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม
4.    ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ และเมื่อจับได้แล้วให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว
5.    เมื่อศาลได้ออกหมายจับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับ และหากศาลเห็นสมควร ศาลอาจให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วยโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุนก็ได้
เกี่ยวกับการฟ้องร้องกรณีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
        ในการปฏิบัติหรือดำเนินการต่าง ๆ พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 อาจจะมีกรณีที่เกิดการละเมิดขึ้น ปัญหาว่า หากจะมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิด จะฟ้องที่ศาลใด ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 8 ได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งการที่บัญญัติไว้ในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับหลักการแยกเป็นคดีปกครอง และคดีที่ขึ้นศาลยุติธรรม กรณีของการดำเนินการตามพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 ทั้งกรณีของเจ้าหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจศาล เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของการอำนวยความยุติธรรม จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษา ไม่ใช่ศาลปกครอง
เกี่ยวกับสถานะของเจ้าพนักงานตำรวศาล
พระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 10 บัญญัติว่า
มาตรา 10 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
        บทบัญญัติของมาตรา 10 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติกำหนดเกี่ยวกับสถานะของเจ้าพนักงานตำรวจศาลซึ่งเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมว่าให้มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ ภายใต้ขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 แต่ไม่ถึงขนาดมีอำนาจเป็นพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนคดีความผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่
        ตามบทนิยามความหมายดังกล่าวมา จะเห็นได้ว่า กฎหมายแบ่งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยทั่วไป เป็นการมีอำนาจเกี่ยวกับความผิดทุกประเภท เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ดังกรณีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กับกลุ่มที่สอง คือ เป็นเจ้าพนักงานต่าง ๆ คือ พัศดี กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า ตรวจคนเข้าเมือง อันเป็นการกระทำการตามหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ กรณีเจ้าพนักงานตำรวจศาลก็เช่นเดียวเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตของพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 เหมือนกับกรณีของฝ่ายอื่น ๆ เช่นกรณีของพัศดี ก็มีอำนาจจับกุมนักโทษที่หลบหนีตามกฎหมายราชทัณฑ์ เจ้าพนักงานสรรพสามิต เจ้าพนักงานศุลกากร เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีอำนาจจับกุมผู้บุกรุกป่าไม้ป่าสงวนแห่งชาติอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ